คุณกำลังมองหาอะไร?

ศู

ศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี ส่งเสริมให้ประชาชนใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

03.07.2551
32
0
แชร์
03
กรกฎาคม
2551

ศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี ส่งเสริมให้ประชาชนใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร

                     วันที่  25  มิถุนายน ของทุกปี   วันไอโอดีนแห่งชาติ  เป็นวันรณรงค์สร้างกระแสเพื่อส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงภัยร้ายของโรคขาดสารไอโอดีน  \tนายแพทย์ดนัย ธีวันดา  กล่าวว่า   ปัจจุบันโรคขาดสารไอโอดีนยังเป็นปัญหาสาธารณสุข    ที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคอาหารทะเลอย่างเพียงพอ   ซึ่งเกิดขึ้นมากกับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือและยังพบในภาคกลางและภาคใต้ที่บริเวณแถบเขา    ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคนี้     โดยคิดว่า  การขาดสารไอโอดีนจะทำให้เกิดอาการคอพอกเพียงอย่างเดียว หากใครไม่มีอาการคอพอก ก็แสดงว่าไม่ขาดสารไอโอดีนและคิดว่าเป็นเฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น จึงไม่ให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่มีสารไอโอดีนมากนัก โดยหารู้ไม่ว่าไอโอดีนมีผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายสมอง และสติปัญญาของคนในทุกช่วงอายุ  \t                     ช่วงทารกอยู่ในครรภ์ถึงแรกเกิด  จะทำให้เกิดการแท้งหรือตายก่อนกำหนดได้ง่าย หรือ คลอดออกมาทารกก็จะพิการแต่กำเนิด คือ หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น และสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อน หรือที่เรียกว่าเป็นเอ๋อ                      ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น ร่างกายจะเจริญเติบโตช้า สติปัญญาด้อยลงกว่าคนปกติและมีอาการคอพอก ขณะที่วัยผู้ใหญ่จะมีอาการคอพอก เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น สมรรถนะในการทำงานลดลง ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยหากเป็นเพศชายจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ                       นายแพทย์ดนัย ธีวันดา  เปิดเผยว่า   เด็กที่ขาดสารไอโอดีนจะมีสติปัญญาด้อยซึ่งเป็นผลที่รุนแรงกว่าอาการที่ปรากฏให้เห็นเป็นคอพอกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แนวทางที่ใช้แก้ปัญหาขาดสารไอโอดีนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย คือให้บริโภคเกลือเสริมไอโอดีน กระทรวงสาธารณสุขได้มีกฎกระทรวงให้เกลือบริโภคในประเทศไทยต้องเสริมไอโอดีนในรูปของไอโอเดท โดยให้มีปริมาณ 30-50 ส่วนในล้านส่วน แต่จนถึงปัจจุบันนี้ปริมาณไอโอเดทในเกลือเสริมไอโอดีนยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยส่วนใหญ่จะน้อยกว่ามาตรฐานจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและตรวจสอบอย่างจริงจัง                     นายแพทย์ดนัย ธีวันดา  กล่าวอีกว่า   จากการสำรวจกองโภชนาการ   กรมอนามัย  ปกติปริมาณเกลือที่คนไทยบริโภคอยู่ระหว่าง  2-10 กรัม/วัน  เฉลี่ยแล้วคนละ 5 กรัม บริโภคต่ำสุดประมาณ    2  กรัม/วัน  ดังนั้นก็จะได้รับไอโอดีนประมาณ 100 ไมโครกรัม ต่อวันต่อคน   การเสริมไอโอดีนในเกลือขนาดที่ประกันว่าคนได้รับสารไอโอดีนวันละ 150- 300  ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวัน     อยู่ในขนาดที่ปลอดภัยสำหรับประชากรทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาวะไอโอดีนของประชากร    ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับสารไอโอดีนเกินกว่า วันละ 1 มิลลิกรัม จึงน้อยมาก แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้  สารไอโอดีนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนสำหรับการเติบโตของร่างกายและสมอง ส่วนที่เหลือจะถูกขับ ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกาย จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวัน                    นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา  ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี  กล่าวว่า  จากข้อมูลในการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในรอบที่  1 ประจำปีงบประมาณ 2551  (ตุลาคม2550 -มีนาคม 2551 พบว่า 4 จังหวัด ในเขต 11 คือ จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนมและมุกดาหาร มีครัวเรือนที่ใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ปริมาณไอโอดีน  ≥ 30 ppm.)      มีเพียงร้อยละ 43.30  และ 4 จังหวัด ในเขต 14  คือจังหวัดอุบลราชธานี   ศรีสะเกษ   อำนาจเจริญ และยโสธร มีเพียงร้อยละ 63.2    ซึ่งล้วนต่ำกว่าเป้าหมาย (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85  )                    ศูนย์อนามัยที่ 7  อุบลราชธานี  จึงจัดกิจกรรมรณรงค์  ส่งเสริม กระตุ้นย้ำเตือนให้ทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหารอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ  บริโภคอาหารทะเลเป็นประจำ เช่นปลาทู หอย ปู กุ้ง       และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมไอโอดีน เช่น น้ำปลา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  และไข่ไก่สดเสริมไอโอดีน  โดยตรวจดูจากฉลากหรือส่วนผสม   ตลอดจนขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าเกลือบริโภคทุกราย ได้เสริมไอโอดีนลงในเกลือให้ได้มาตรฐานทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคเกลือที่มีคุณภาพ  เพื่อการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างถาวรและยั่งยืน   จนกระทั่งโรคขาดสารไอโอดีนหมดสิ้นจากประเทศไทย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน